ข้อแนะนำและข้อที่ต้องระมัดระวังในการกรอกใบสมัครงาน
1. ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ของใบสมัคร
ในใบสมัครงานอาจมีคำแนะนำ หรือคำสั่งอื่นๆ (ส่วนใหญ่จะอยู่ด้านบนของใบสมัคร) ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ หรือคำสั่งนั้น เช่น ให้เขียนหรือพิมพ์ หรือข้อความตอนใดที่ต้องเขียนด้วยภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย เป็นต้น
2. ควรจะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไปให้พร้อม เช่น ปากกา ยางลบหมึก
3. ควรจะเตรียมเอกสารต่างๆ ประกอบการสมัครงานให้พร้อมและเรียบร้อย
ควรจะนำตัวจริงและถ่ายเอกสารไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบประวัติย่อ (Resume) หากเอกสารเหล่านี้ ได้จัดส่งมาแล้วทางจดหมายสมัครงานก็ขอให้ระบุไว้ให้เห็นเด่นชัดในใบสมัครงาน หรืออาจจะแจ้งกับเจ้าหน้าที่รับสมัครงานก็ได้ แต่ก็ควรถ่ายเอกสารเตรียมไปด้วยอีก 1 ชุด เพื่อว่า เจ้าหน้าที่รับสมัครเขาหาไม่เจอจะได้มอบให้เขาไว้เลย
4. ควรจะจดรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ไปให้พร้อม
เช่น หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขใบขับขี่ วันที่ออกบัตร สถานที่ออกบัตร วันหมดอายุ ชื่อตำแหน่ง และที่อยู่ของที่ทำงาน รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครองพ่อแม่ หรือบุคคลที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้สมัครได้ นอกจากนี้ควรจะจำปี พ.ศ. ที่จบการศึกษาในแต่ละชั้นเรียนด้วย
5. ควรจะกรอกด้วยลายมือที่สวยงามและสะอาดเรียบร้อย
ควรกรอกด้วยปากกาสีดำหรือสีน้ำเงิน อย่าใช้ดินสอหรือปากกาสีอื่นๆ พยายามอย่าเขียนผิด ถ้าหากเขียนผิด ให้ใช้ยางลบหมึกลบให้สะอาด ตัวหนังสือควรเขียนด้วยลายมือที่อ่านง่าย สวยงาม ไม่เขียนหวัด และสะกดคำผิด
6. ระบุตำแหน่งงานที่จะสมัครไว้ให้ชัดเจน
ใบสมัครบางแห่งจะมีข้อความถามทำนองว่าหากตำแหน่งที่ต้องการสมัครไม่ว่าง จะสนใจสมัครในตำแหน่งอื่นหรือไม่ หากผู้สมัครแน่ใจว่าเมื่อไม่ได้งานในตำแหน่งที่สมัคร ก็จะไม่ทำงานในตำแหน่งอื่น ก็กรอกข้อความลงไปเลยว่าไม่ แต่ก็มีบ่อยครั้ง ที่ผู้สมัครกรอกตำแหน่งที่จะสมัครงานผิดหรือไม่เข้าใจตำแหน่งงานนั้นๆ ทำอะไรบ้าง ก่อนจะสมัครตำแหน่งอะไร ควรศึกษางานของตำแหน่งนั้นเสียก่อน
7. ควรจะกรอกรายละเอียดในใบสมัครให้ครบทุกช่อง
แต่มีข้อต้องระวังว่า รายละเอียดใดที่ยังไม่แน่ใจ หรือยังไม่พร้อม เช่น ขาดใบรับรองการศึกษา ให้กรอกข้อความว่าจะนำมาในภายหลัง กรณี ไม่มีข้อความที่จะกรอกให้ขีด (-) ลงในช่องนั้น เป็นการแสดงว่าเป็นคนละเอียดรอบคอบ
8. ข้อมูลการศึกษา
ถ้าช่องสำหรับกรอกการศึกษาเว้นประเภทของโรงเรียนไว้ให้ผู้สมัครเติมข้อความเองผู้สมัครควรที่จะเขียนการศึกษาสูงสุดที่ตนเองได้รับก่อน และเขียนการศึกษาย้อนหลังไปอีกระดับหรือสองระดับก็เป็นการเพียงพอ ส่วนใบสมัครที่ได้กำหนดระดับการศึกษาไว้ในใบสมัครแล้ว ผู้สมัครก็ต้องเขียนรายการตามที่ใบสมัครระบุไว้
9. ข้อมูลประสบการณ์การทำงาน
ในใบสมัครงานทุกบริษัทจะมีช่องประสบการณ์การทำงานไว้เพื่อจะได้รู้ว่าผู้สมัครนั้นเคยผ่านงานอะไรมาบ้าง การกรอกประสบการณ์ก็เหมือนกับการกรอกประวัติการศึกษาคือ ให้กรอกการทำงานล่าสุดก่อนแล้วค่อยย้อนหลังลงไปจนถึงการทำงานครั้งแรก
10. บุคคลอ้างอิง
กรณีที่ต้องระบุชื่อผู้อ้างอิงหรือถึงบุคคลที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้สมัครทั้งในด้านอุปนิสัยใจคอ ความประพฤติ หรือหน้าที่การงาน ควรจะต้องแจ้งบุคคลเหล่านั้นก่อน และควรที่จะเขียนอย่างน้อย 2 คน หรือตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสมัคร ซึ่งในใบสมัครงานมักจะระบุว่าผู้รับรองต้องไม่ใช่ญาติกับผู้สมัคร การเขียน ชื่อ สกุล ผู้รับรองนั้นต้องมีคำนำหน้านามเสมอ ในกรณีผู้รับรองมียศทางทหาร / ตำรวจ หรือตำแหน่งทางราชการ บริหาร/ การเมือง หรือตำแหน่งทางวิชาการ ควรที่จะเขียนด้วยเพื่อความน่าเชื่อถือ
11. กรอกใบสมัครงานเป็นภาษาอังกฤษ
ถ้าผู้สมัครมีความสามารถในการกรอกใบสมัครงานเป็นภาษาอังกฤษก็ควรจะทำ แต่หากใบสมัครไม่ได้ระบุว่าต้องกรอกภาษาอะไรและผู้สมัครไม่แน่ใจในภาษาอังกฤษขอให้ใช้ภาษาไทยจะดีกว่า กรณีใบสมัครเป็นภาษาอังกฤษควรใช้ ค.ศ.แทน พ.ศ.
12. กรอกใบสมัครให้ดูน่าสนใจที่สุด
ควรเขียนให้สะอาดเรียบร้อยและใช้ถ้อยคำที่กะทัดรัด ตอบคำถามด้วยคำตอบที่น่าสนใจ
13. เงินเดือน
การกรอกเงินเดือนควรกรอกเป็นช่วงเพื่อให้นายจ้างมีทางเลือกที่จะพิจารณา เช่น 9,000 – 10,000 บาท การกรอกเงินเดือนไม่ควรให้ต่ำหรือสูงเกินไป ในกรณีที่ผู้สมัครไม่ ต้องการจะกรอกจำนวนเงิน อาจจะกรอกข้อความอย่างอื่นได้ เช่นเงินเดือนแล้วแต่จะตกลง
14. กรอกใบสมัครให้เสร็จโดยเร็วและรีบส่งทันที